ความวิตกกังวลในการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

Hong Van- VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) -การประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เป็นโอกาสสำคัญเพื่อให้ประเทศต่างๆยืนยันอีกครั้งถึงคำมั่นเกี่ยวกับการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  แต่ในสภาวการณ์ที่โลกกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่จากปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งที่สหประชาชาติต้องการเห็นคือปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมแทนคำพูดของประเทศต่างๆ
ความวิตกกังวลในการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ - ảnh 1นักศึกษาเข้าร่วมการเดินขบวนเรียกร้องให้รับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Photo: AFP) 

การประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสภาพอากาศของสหประชาชาติเป็นกิจกรรมแรกในสัปดาห์ระดับสูงของสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กที่มีขึ้นในระหว่างวันที่ 23 -29 กันยายน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยมีผู้นำ ตัวแทนของรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม

คำมั่นต่างๆ

  นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้ยอมรับว่า สิ่งที่เสียดายคือคนในรุ่นของเราไม่สามารถปกป้องโลกแห่งสีเขียวได้ ซึ่งสิ่งนี้ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงทันทีและต้องมีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมแทนคำพูด

เพื่อขานรับคำเรียกร้องของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ผู้นำและตัวแทนรัฐบาลของ 77 ประเทศ สถานประกอบการ 100 แห่งและองค์การลงทุนระหว่างประเทศ 12 แห่งได้เสนอข้อคิดริเริ่มต่างๆและให้คำมั่นที่จะปกป้องสภาพภูมิอากาศ  โดยนาง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ประกาศว่า จะเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนภูมิอากาศสีเขียวของสหประชาชาติจาก 2 พันล้านยูโรขึ้นเป็น 4 พันล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ด้อยพัฒนาในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่วนชิลีได้เสนอให้จัดตั้งสหภาพประเทศที่มีความพยายามเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศหรือ  High Ambition Coalition เพื่อรวบรวมประเทศที่มีคำมั่นร่วมเกี่ยวกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ที่ 0% ภายในปี 2050 สหภาพประเทศที่ไม่ใช้ถ่านหินมีการเข้าร่วมของ 30 ประเทศ 22 รัฐและ เครือบริษัท 31 แห่ง

  ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส  เอ็มมานูเอล มาครงได้เผยว่า ประเทศต่างๆต้องจำกัดการนำเข้าสินค้าที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อม เพิ่มงบประมาณให้แก่การปฏิบัติโครงการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนภูมิอากาศสีเขียวของสหประชาชาติจาก 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  นอกรอบการประชุม  นาย  ชินจิโร โคอิซุมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินและกำลังมีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สังคมที่ไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมเหมือนประเทศมหาอำนาจต่างๆในการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ส่วนรัฐต่างๆของสหรัฐได้แสดงบทบาทในที่ประชุมผ่านการยืนยันที่จะธำรงปฏิบัติคำมั่นต่างๆในข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเมื่อเร็วๆนี้ เครือบริษัทอเมซอนได้ประกาศแผนการปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยูที่ 0%ภายในปี 2040 ซึ่งเร็วกว่า 10 ปีเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ได้วางไว้ในข้อตกลงปารีส

  ยังไม่มีความคืบหน้าจากประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์มากที่สุดในโลก

 แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีบางประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกยังขาดคำมั่นและการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ที่เคยประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อ้างเหตุผลที่ต้องจัดการประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับเหตุน้ำท่วมในเมืองฮูสตันเพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นกล่าวปราศรัยในการประชุมนี้ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์เห็นว่า ท่าทีของสหรัฐในการประชุมนี้แตกต่างกับการประชุมก่อนหน้านั้น โดยเมื่อก่อน สหรัฐจะเป็นฝ่ายรุกในการส่งเสริมให้ประเทศต่างๆมีปฏิบัติการที่จริงจังเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแต่ในปัจจุบัน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์กลับเพิกเฉยข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปริมาณก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกจากยานพาหนะและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่ายหิน  เป็นต้น

ส่วนประเทศจีนก็ไม่มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า พร้อมที่จะปฏิบัติอย่างเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นาย หวังอี้ ตัวแทนพิเศษของประธานประเทศจีนสีจิ้นผิงได้ชี้ชัดว่า จีนกำลังปฏิบัติคำมั่นต่างๆที่ถูกระบุในข้อตกลงปารีส ในขณะที่บางประเทศไม่ปฏิบัติ ดังนั้น   จีนยังไม่อยากมีการปฏิบัติที่เข้มงวดมากขึ้นในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถ้าหากที่บางประเทศที่ร่ำรวยกว่ายังไม่มีการปฏิบัติที่ทัดเทียมกับจีน

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอินเดียได้เผยว่า อินเดียจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนจนถึงปี 2022 แต่ไม่มีคำมั่นใดๆเกี่ยวกับการลดการพึ่งพาการใช้ถ่านหิน

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ก่อให้เกิดวิกฤตใหญ่ในโลกและส่งผลกระทบในทางลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน  ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเลวร้ายมากขึ้นถ้าหากโลกไม่บรรลุความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ.

คำติชม