วิทยุเวียดนามอยู่เคียงคู่กับเส้นทางโฮจิมินห์แห่งตำนาน

Kim Thanh
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ในช่วงสงครามต่อต้านสหรัฐอเมริกาเพื่อกู้ชาติในตลอด 16 ปีนับตั้งแต่มีการเปิดเส้นทางโฮจิมินห์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมปี 1959 จนถึงเวลาสงครามยุติลงเมื่อวันที่ 30 เมษายนปี 1975 คลื่นวิทยุแห่งสถานีวิทยุเวียดนามได้อยู่เคียงคู่กับทหารและประชาชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมต่อภารกิจการปลดปล่อยภาคใต้ รวมประเทศเป็นเอกภาพ ในโอกาสรำลึกครบรอบ 60ปีการเปิดเส้นทางโฮจิมินห์ ขอแนะนำสารคดีที่เล่าเรื่องความทรงจำที่น่าภาคภูมิใจของบรรดานักข่าว บรรณาธิการและศิลปินของสถานีวิทยุเวียดนามในช่วงหนึ่งของชีวิตที่สมรภูมิเจื่องเซิน
วิทยุเวียดนามอยู่เคียงคู่กับเส้นทางโฮจิมินห์แห่งตำนาน - ảnh 1ภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่นักข่าววิทยุเวียดนาม

นักข่าวเลทง อดีตผู้สื่อข่าวของสถานีวิทยุเวียดนาม ได้เดินทางไปยังสมรภูมิเจื่องเซินเมื่อปี 1972 และปฏิบัติหน้าที่อยู่ฝั่งตะวันออกของเทือกเขาเจื่องเซินหลังจากที่เส้นทางโฮจิมินห์ได้รับการขยายแล้ว ในความคิดของเขา สมรภูมิเจื่องเซินสะท้อนทั้งความฮึกเหิมของขบวนการต่อสู้กู้ชาติ ความลำบาก ความทรหดอดทนและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของทหารเจื่องเซิน ซึ่งนักข่าวเลทงได้เผยว่า สำหรับทหารที่อยู่ในสมรภูมิเจื่องเซิน ซึ่งเป็นสนามรบที่ดุเดือดที่สุดในช่วงนั้น การได้รับฟังข้อมูลข่าวสารจากแนวหลังหรือสมรภูมิอื่น รวมทั้งเสียงเพลงถือเป็นการให้กำลังใจที่มีความหมายเป็นอย่างมาก โดยสถานีวิทยุเวียดนามเป็นช่องทางเดียวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นักข่าวเลทงบอกว่า มีเรื่องหนึ่งที่เขายังจำได้ดีคือเรื่องของเยาวชนอาสาคนหนึ่งที่นำเครื่องรับวิทยุติดตัวตลอดเวลา วันหนึ่งเขาได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่เปิดทางให้รถผ่านท่ามกลางการโจมตีอย่างดุเดือดของเครื่องบินกองทัพสหรัฐ แล้วก็เสียสละพร้อมเพื่อนสหายหลายคน ซึ่งในตอนนั้น ทหารในหน่วยได้แยกย้ายกันไปค้นหาร่างของเขา แต่ก็ไม่เจอ ในเช้าวันต่อมา เมื่อได้ยินเสียงจากวิทยุ เพื่อนสหายของเขาก็ไปตามหาที่มาของเสียงแล้วก็พบศพของเขาที่ถูกกลบอยู่ใต้ดินพร้อมเครื่องรับวิทยุที่ยังอยู่กับตัว ในตลอด 3ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทหารและประชาชนเจื่องเซิน นักข่าวเลทงได้สัมผัสได้รับรู้เรื่องราวแห่งวีรกรรมและความกล้าหาญของทหารในเทือกเขาเจื่องเซินและเขาได้เขียนผลงานหลายเรื่องที่ตัวเองประจักส่งให้สำนักงานเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุเวียดนามเพื่อให้กำลังใจเหล่าทหารเจื่องเซิน“เครื่องรับวิทยุคือเพื่อนคู่ใจและเสมือนเป็นคนชี้แนะเพื่อให้เรายกระดับความรู้เกี่ยวกับด้านต่างๆในชีวิตสังคมและช่วยให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นด้วยเสียงร้องเพลงและดนตรี เมื่อรู้ว่า ผมคือนักข่าวสถานีวิทยุเวียดนาม ทหารหลายคนชอบมาคุยและถามเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับนักข่าวและศิลปินของวิทยุเวียดนามได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ช่วยให้พวกเขามีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานีวิทยุเวียดนามมากขึ้น”

ส่วนในความทรงจำของนักข่าวเจิ่นดึ๊กนวย เจ้าหน้าที่ของสถานีวิทยุเวียดนามคือนักข่าวที่เข้าถึงเส้นทางโฮจิมินห์เร็วที่สุด โดยคณะนักข่าวกลุ่มแรก รวมสมาชิก 4 คนนำโดยนาย หวูเดื่อง ได้เดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ ส่วนนักข่าวเจิ่นดึ๊กนวยก็ได้เดินทางไปยังเขตอาเส่า อาเลื้อย ทางทิศตะวันตกของจังหวัดเถื่อเทียนเว้ เมื่อเดือนตุลาคมปี 1974 ซึ่งเป็นช่วงที่สมรภูมินี้ดุเดือดที่สุด แม้การเดินทางผ่านเส้นทางโฮจิมินห์แค่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตร แต่นักข่าวเจิ่นดึ๊กนวยก็สามารถสัมผัสและเข้าใจเกี่ยวกับความลำบากยากเข็ญของทหารที่บุกเบิกสร้างเส้นทางเจื่องเซิน โดยควบคู่กับเส้นทางโฮจิมินห์นั้น ยังมีเส้นทางสำหรับการส่งน้ำมันรวมระยะทางกว่า 1400 กิโลเมตร เส้นทางเพื่อการติดต่อสื่อสารตลอดระยะทางหลายแสนกิโลเมตร ตลอดจนเส้นทางพิเศษแห่งสถานีวิทยุเวียดนาม เส้นทางของคลื่นวิทยุที่อยู่เคียงคู่กับเส้นทางเจื่องเซิน-โฮจิมินห์“อาจกล่าวได้ว่า สถานีวิทยุเวียดนามคือช่องทางการสื่อสารเดียวในตอนนั้นเพราะการส่งหนังสือพิมพ์กว่าที่จะเข้าถึงสมรภูมิก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนและสามารถเข้าถึงได้ไม่ง่าย ส่วนสถานีวิทยุเวียดนามและสถานีวิทยุปลดปล่อยคือแหล่งจัดสรรคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของทหารในสมรภูมิเจื่องเซินเพราะเป็นการให้กำลังใจแก่ทหารที่ต้องเผชิญความเป็นความตายอยู่ตลอดเวลา”

เพื่อให้กำลังใจและส่งเสริมจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหาร นักร้องและนักดนตรีหลายคนจากสถานีวิทยุเวียดนามได้เดินทางไปแสดงในสมรภูมิเจื่องเซิน โดยได้ร้องเพลงต่างๆ เช่น “Lá đỏ” หรือ แปลว่า “ใบไม้สีแดง” “Trường Sơn Đông, Trường Sơn Tây หรือ แปลว่า “เจื่องเซินตะวันออก – เจื่องเซินตะวันตก” “Bài ca Hà Nội” หรือ แปลว่า “บทเพลงฮานอย” “Làng quan họ quê tôi”หรือ แปลว่า “หมู่บ้านกวานเหาะของฉัน” ซึ่งได้สร้างขวัญกำลังใจและสร้างความมั่นใจต่อชัยชนะ พร้อมทั้งยังได้เขียนผลงานที่สะท้อนบรรยากาศที่สมรภูมิเพื่อส่งไปยังสถานีวิทยุเพื่อออกอากาศให้ประชาชนทั่วประเทศรับทราบ ศิลปินประชาชนแทงฮวาเล่าว่า ในช่วงที่เธอได้ไปแสดงที่สมรภูมิเจื่องเซินเมื่อปี 1974 แม้จะร้องเพลงท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเป็นความตายเพราะเสียงปืนเสียงระเบิดดังสนั่นตลอดทั้งวันคืน แต่เธอก็รู้สึกมีความสุขเป็นอย่างมาก“การเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ที่สมรภูมิเจื่องเซินตอนนั้น ดิฉันไม่เคยคิดว่า จะสร้างผลงานหรือสร้างชื่อเสียงให้แก่ครอบครัว หากคิดแต่เพียงว่า เราสามารถทำอะไรได้ก็ทำแม้กระทั่งต้องเสียสละเพื่อมีส่วนร่วมต่อภารกิจการรวมประเทศเป็นเอกภาพ เส้นทางโฮจิมินห์คือเส้นทางที่ยิ่งใหญ่เพราะสร้างขึ้นด้วยการเสียสละของทหารและเยาวชนอาสาจำนวนมาก พร้อมความปรารถนาอันแรงกล้าเกี่ยวกับชีวิตที่สันติภาพ แม้จะเป็นความปวดร้าว แต่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมากของประชาชนเวียดนาม”

นักการทูตและนักข่าวหลีวันเสาเคยบอกว่า “มีอีกเส้นทางโฮจิมินห์ที่สร้างโดยคลื่นของสถานีวิทยุเวียดนาม” ได้นำข้อมูลข่าวสาร สร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารทุกคนที่กำลังมุ่งหน้าสู่สมรภูมิ นั่นคือเส้นทางเชื่อมความรักและเสริมสร้างความมั่นใจต่อชัยชนะในสงครามกู้ชาติของประชาชนเวียดนาม.

คำติชม