ร่องรอยวัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งในราชธานีทังลอง-ฮานอย

Ngọc Anh
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ในประวัติศาสตร์ของประชาชาติเวียดนาม ภารกิจการสร้างสรรค์และพิทักษ์รักษาประเทศชาติได้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยบรรพกษัตริย์หุ่งในยุควัฒนธรรมดงเซินเมื่อศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช โดยในลุ่มแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดง ราชธานีทังลอง-ฮานอยคือผืนดินที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์วัฒนาธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งอย่างเด่นชัด
ร่องรอยวัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งในราชธานีทังลอง-ฮานอย - ảnh 1 กลองมโหระทึกดงเซิน 

ในสมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง ได้มีการจัดตั้งนครรัฐ มีการพัฒนาวิธีการผลิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของประชาชาติเวียดนาม โดยได้รับการสืบทอดและปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะสิ่งที่น่าสนใจคือราชธานีทังลอง-ฮานอยมีอายุนับพันปีและมีความผูกพันกับสมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง พลตรี ฝ่ามวันเหยิ่น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งได้เผยว่า“กรุงฮานอยมีโบราณสถานเกี่ยวกับสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งกว่า 500 แห่ง ซึ่งมากที่สุดในประเทศและถือเป็นคลังวัฒนธรรม เอกสารโบราณและโบราณสถานที่หลกหลาย ซึ่งเอื้อให้แก่การวิจัยวัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก้ได้รับรองความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งและการร้องเพลงทำนองซวานให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติ ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่มีวันบูชาบรรพบุรุษเหมือนเวียดนาม”

ในสมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง วัฒนธรรมดงเซินได้พัฒนาอย่างงดงาม ซึ่งเป็นจุดเด่นของวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยโบราณ โดยร่องรอยวัฒนธรรมดงเซินได้สะท้อนให้เห็นผ่านโบราณสถานต่างๆในกรุงฮานอย รองศ.ดร.ต๊งจุงติ๊น ประธานสมาคมนักโบราณคดีสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และสังคมเวียดนามได้ยืนยันว่า"ปัจจุบัน กรุงฮานอยมีโบราณสถาน 24 แห่งที่มีร่องรอยวัฒนธรรมดงเซิน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอดงแอง เช่น กำแพงโก๋ลวาที่ได้รับการก่อสร้างในสมัยกษัตริย์อานเยืองเวือง ซึ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแหล่งโบราณคดีเดิ่มเมยที่มีร่องรอยการผลิตเครื่องโลหะของชาวเวียดโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของราชธานีทังลองฮานอย เช่น กลองมโหระทึกโก๋ลวาที่มีขนาดใหญ่เท่ากับกลองมโหระทึกหงอกหลู คันไถและลูกธนูทองแดง”

ร่องรอยวัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งในราชธานีทังลอง-ฮานอย - ảnh 2โบราณวัตถุที่ทำจากทองแดงเป็นหนึ่งในสมบัติแห่งชาติของเวียดนาม

ปัจจุบัน หมู่บ้านและตำบลหลายแห่งในกรุงฮานอยได้ก่อสร้างวิหารบูชากษัตริย์และเทพต่างๆในสมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เอกลักษณ์วัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่ง และคุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์ของราชธานีทังลอง-ฮานอยยังคงมีพลังชีวิตที่ไม่เสื่อมคลาย

นอกจากบทบาทเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศแล้ว ราชธานีทังลอง-ฮานอยก็ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจความเลื่อมใสศรัทธาของชาวเวียดโบราณ โดยเฉพาะงานเทศกาลฝู่ด๊งที่บูชาเทพเจ้าย้องที่อำเภอยาเลิมและอำเภอซอกเซินและงานเทศกาลต๋านเวียนเซินแท้งที่อำเภอบาหวี่และอำเภอเมืองเซินเตย รองศ.เหงวียนดึ๊กเหย รองหัวหน้าสถาบันประวัติศาสตร์เวียดนามได้เผยว่า“ภูเขาบาหวี่ตั้งอยู่ในอำเภอบาหวี่ อยู่ตรงข้ามกับยอดเขาแบกหากในจังหวัดเหวียดตรี่ และเป็นสถานที่บูชาเทพต๋านเวียนเซินแท้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพอมตะ ๔ องค์ของเวียดนาม นอกจากนี้ ประชาชนยังได้จัดงานเทศกาลเทพเจ้าย้องเพื่อย้อนอดีตและอนุรักษ์งานเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดง โดยอำเภอยาเลิมคือถิ่นกำเนิดของเทพเจ้าย้อง ส่วนอำเภอซอกเซินเป็นสถานที่ที่เทพเจ้าย้องบินขึ้นสู่ท้องฟ้าหลังจากรบชนะศัตรูผู้รุกราน”

ทั้งนี้และทั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งได้ซึมซับเข้าในใจและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนเวียดนามทุกคน โดยเฉพาะบรรพกษัตริย์หุ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในทั่วประเทศและเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชุมชนชาวเวียดนามในต่างประเทศ ส่วนราชธานีทังลอง-ฮานอยได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งอย่างเด่นชัดและเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมสมัยบรรพกษัตริย์หุ่งในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดง.

คำติชม