นครโฮจิมินห์ อนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม

Duy Phương- Thu Hoa
Chia sẻ
(VOVWORLD) - ถึงแม้นครโฮจิมินห์จะมีอายุแค่ 320 ปีแต่ก็มีการพัฒนาอย่างคล่องตัว และมีมรดกสถาปัตยกรรมหลายแห่งที่ได้รับการก่อสร้างในกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนานครฯ ท่ามกลางการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทางการนครฯต้องเผชิญกับปัญหามรดกสถาปัตยกรรมที่ค่อยๆสูญหายไป จึงต้องวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมเอาไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง
นครโฮจิมินห์ อนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม - ảnh 1โบสถ์พระแม่มารี 

ตามข้อมูลสถิติ นครโฮจิมินห์มีโบราณสถาน 172 แห่ง โดยมีสถาปัตยกรรมที่สามารถพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ 40 แห่ง ปัจจุบัน มรดกสถาปัตยกรรมในนครโฮจิมินห์ เช่น โบสถ์พระแม่มารี ไปรษณีย์กลางไซ่ง่อน ตลาดเบ๊นแถ่งและอาคารคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ถือเป็นสัญลักษณ์ของนครฯเพราะมีคุณค่าด้านศิลปะ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

การอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมของนครโฮจิมินห์กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อปลายปี 2018 หลังจากที่ทางการนครฯมีแผนการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์อาคาร Dinh Thượng Thơ ซึ่งปัจจุบันเป็นสำนักงานใหญ่ของสำนักงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในใจกลางนครโฮจิมินห์เพื่อขยายพื้นที่ทำงาน  อาคาร Dinh Thượng Thơ มีอายุ 130ปี มีสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสและอยู่คู่กับการเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญและสำนักงานที่เกี่ยวข้องกำลังประเมินและหาแนวทางในการบูรณะปฏิสังขรณ์ ปัจจุบัน นครโฮจิมินห์มีวิลล่าเก่า 1300 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ซึ่งทำให้การอนุรักษ์มรดกดังกล่าวประสบความลำบากมาก

ดร.เหงวียนถิเหิ่ว เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์นครโฮจิมินห์ได้เผยว่า มรดกสถาปัตยกรรมสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเมือง ซึ่งการทำลายมรดกก็จะส่งผลกระทบในทางลบต่อเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเมือง รวมทั้งการพัฒนาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ดังนั้น ต้องผลักดันการอนุรักษ์มรดกและการพัฒนาตัวเมืองให้สอดคล้องกัน

“ทางการปกครองและนักลงทุนมีบทบาทชี้ขาดต่อการอนุรักษ์มรดกท่ามกลางการพัฒนาเมือง  ส่วนนักวิจัยและชุมชนก็มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการดังกล่าว โดยก่อนอื่น ทางการปกครองต้องมีวิสัยทัศน์ วางแผนและปฏิบัตินโยบายต่างๆเพื่ออนุรักษ์มรดก ตลอดจนต้องลงโทษผู้กระทำผิดและจัดทำกฎหมายใหม่ให้เหมาะสม”

นครโฮจิมินห์ อนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม - ảnh 2อาคาร Dinh Thượng Thơ 

สถาปนิก เจิ่นวันขาย อดีตหัวหน้าแผนกบริหารการวิจัยวิทยาศาสตร์และการอบรมระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยสถาปัตยกรรมศาสตร์นครโฮจิมินห์ได้เผยว่า มาตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์มรดกกับการพัฒนาเมืองคือทำให้การอนุรักษ์มรดกเป็นพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนา

“รัฐมี 3 กลไกได้แก่ การวางแผนการใช้ที่ดิน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายด้านภาษี โดยนโยบายต่างๆของรัฐ นอกจากมีข้อผูกมัดต่างๆ แล้วก็ต้องสนับสนุนและทำให้ประชาชนสามารถมีรายได้จากมรดกเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์”

ส่วนสถาปนิกกาวแถ่งเหงวียบ สมาชิกสมาคมสถาปนิกนครโฮจิมินห์ได้กล่าวถึงการเชื่อมโยงระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์จากมรดก ซึ่งนครโฮจิมินห์ต้องมีการวางผังเขตมรดกก่อนการวางผังตัวเมือง ส่วนสถานประกอบการต้องมีส่วนร่วมอนุรักษ์มรดกในเขตมรดกเพื่อเพิ่มคุณค่าของเขตชุมชน

“ต้องส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกควบคู่กับการพัฒนาเพราะการวางแผนอนุรักษ์มรดกในเขตใจกลางเมืองจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาตัวเมืองในเขตรอบๆและต้องจัดทำรายชื่อกิจการที่ต้องได้รับการอนุมัติโดยไม่ต้องรอการรับรองให้เป็นโบราณสถานระดับชาติ”

ส่วนนาย เจืองกิมต๊วน ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์มรดกนครโฮจิมินห์ได้เผยว่า การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในนครโฮจิมินห์กำลังประสบความลำบาก มรดกวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสถานีที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของนครฯและเขตอนุรักษ์โบราณคดีไม่ได้รับการอนุรักษ์อย่างเหมาะสม ในเวลาที่ผ่านมา ทางการนครโฮจิมินห์ได้สั่งให้สำนักงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานในการปฏิบัติโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่างๆ แต่ก็ยังมีโครงการที่เจ้าของพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่เห็นด้วยกับการบูรณะปฏิสังขรณ์

“สำหรับอาคารสถานีที่ได้รับการก่อสร้างในเขตมรดกสถาปัตยกรรมนั้นก็ต้องมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสนับสนุนเงินทุนให้แก่โครงการอนุรักษ์เพราะได้รับประโยชน์จากที่ดินและความหนาแน่นของโครงการก่อสร้างต่างๆ”

ทั้งนี้และทั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า การอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมสามารถปฏิบัติควบคู่กับการพัฒนาเขตเมืองได้ถ้าหากฝ่ายต่างๆสามารถแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยเจ้าของพื้นที่และสถานประกอบการสามารถส่งเสริมให้มรดกสถาปัตยกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเพื่อใช้ประโยชน์จากคุณค่าวัฒนธรรม สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคนยุคปัจจุบันเพื่อให้ความเคารพประวัติศาสตร์และสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง.

คำติชม